ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน
ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำริก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่ตำบลบางโพงพาง อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร เมื่อ พ.ศ.2505 เพื่อรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ในบริเวณอำเภอยานนาวาและพระประแดง โดยเฉพาะโรงเรียนวัดปริวาศ นายอรุณ เศตะพราหมณ์ (อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดปริวาศ) น.ต.มงคล มิ่งเมืองไทย และ นายศิริ สุขทัพภ์ จึงเริ่มดำเนินการขอใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงเรียน โดยเป็นผู้นำในการติดตามและประสานงานเช่าที่จากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โฉนดเลขที่ 35420750 เดือนละ 641 บาท มีเนื้อที่ตามหน้าโฉนด 13 ไร่ 2 งาน 9 ตารางวา เมื่อ พ.ศ. 2506 และได้รับอนุมัติงบประมาณปี 2507 ก่อสร้างอาคารเรียน เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น 8 ห้องเรียน 1 หลัง บ้านพักภารโรง 2 ครอบครัว 1 หลัง ส้วมนักเรียนชายแบบ 2 ที่ พร้อมที่ปัสสาวะ 4 ที่ 1 หลังและส้วมนักเรียนหญิง 4 ที่ 1 หลัง อาคารเรียนได้ถูกรื้อถอนไปเมื่อ พ.ศ.2525 ก่อนมีการลงทะเบียนสิ่งก่อสร้างบนที่ราชพัสดุ จึงไม่ปรากฏในทะเบียนที่ราชพัสดุ โดยนำวัสดุที่เหลือจากการรื้อถอนไปสมทบสร้างเรือนเอนกประสงค์(เรือนจริยธรรม) ส่วนบ้านพักภารโรงและส้วมทั้ง 2 หลังได้รับอนุญาตให้รื้อถอนตามหนังสือ กรมธนารักษ์ที่ กค 0407/796 ลงวันที่ 26 มกราคม 2527
กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้ง โรงเรียนบางโพงพาง เลขที่ 288 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2507 เปิดรับทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย จำนวน 3 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 35 คน รวม 105 คน นายเชาวน์ สาลีฉันท์ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนแรก มีครู 8 คน เริ่มจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่วันที่ 18 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2507 แต่เนื่องจากปีแรกการก่อสร้างโรงเรียน ยังไม่แล้วเสร็จ กองโรงเรียนรัฐบาลจึงมอบให้อาจารย์ใหญ่โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม (สมัยนั้นใช้ชื่อโรงเรียนยานนาวา) ดำเนินการรับสมัครนักเรียนฝากนักเรียนโรงเรียนบางโพงพางไปเรียนที่โรงเรียนยานนาวา
วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2508 ได้ย้ายนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนบางโพงพาง และมี คณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนเจ้าพระยาวิทยาคม ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ได้ตั้งเป็น ชมรมผู้ปกครองและครูเจ้าพระยาวิทยาคม และเมื่อ พ.ศ.2528 ได้จดทะเบียนเป็น สมาคมผู้ปกครองและครูเจ้าพระยาวิทยาคม
พ.ศ.2510 คณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนเจ้าพระยาวิทยาคม ได้จัดหาเงินติดตั้งประปาในโรงเรียน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2510 จำนวน 12,160 บาท
พ.ศ.2513 นางญาณสยมภูว์ (นางปิ๋ว เศตะพราหมณ์) บริจาคเงินจำนวน 50,000 บาท สร้าง อาคาร คหกรรมศิลป์ให้โรงเรียน ส่งมอบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2514 และได้ถูกรื้อถอนไปเมื่อ พ.ศ.2525 ป้ายชื่ออาคารยังคงเก็บรักษาไว้ในห้องพิพิธภัณฑ์
พ.ศ.2515 กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเจ้าพระยาวิทยาคม ใช้อักษรย่อ จ.ว. ตามหนังสือกรมสามัญศึกษาที่ ศธ.807/17768 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2515 โรงเรียนได้งบประมาณจำนวน 70,000 บาท เพื่อถมทรายปรับปรุงบริเวณและจัดทำป้ายชื่อหน้าโรงเรียนด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยาพื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษ และสร้างโรงอาหารหอประชุมขนาด 12x28 เมตร 1 หลัง ก่อสร้างเสร็จส่งมอบเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2511 (ได้รับอนุญาต ให้รื้อถอนตามหนังสือกรม ธนารักษ์ที่ กค 0407/796 ลงวันที่ 26 มกราคม 2527)
พ.ศ.2516 กรุงเทพมหานครได้ตัดถนนเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านที่ดินด้านหลังโรงเรียน(ขณะนั้นด้านริมน้ำเป็นด้านหน้าโรงเรียน) ทำให้เสียเนื้อที่ไปประมาณ 1 ไร่ แต่เมื่อหน่วยช่างจากกรมสามัญศึกษา มารังวัดพื้นที่ส่วนที่เหลือรวมเนื้อที่งอกริมตลิ่งจึงได้เนื้อที่รวมเป็น 14 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา
พ.ศ.2517 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารชั่วคราว (แบบ ค.) 8 ห้องเรียน (กท 060012) พร้อมครุภัณฑ์ ส่งมอบ เมื่อ พ.ศ.2518 ได้รับอนุญาตให้รื้อถอนตามหนังสือกรมธนารักษ์ที่ กค 0407/796 ลงวันที่ 26 มกราคม 2527 โดยนำวัสดุที่เหลือไปสร้างเรือนเอนกประสงค์(เรือนจริยธรรม)
พ.ศ. 2518 ได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนในโครงการ คมช.รุ่นที่ 12 และได้รับงบประมาณก่อสร้างบ้านพักภารโรง 2 หลัง (กท 060024 และ กท 060025) ซึ่งได้รับอนุญาตให้รื้อถอนไปแล้วตามหนังสือกรมธนารักษ์ที่ กค 0407/796 ลงวันที่ 26 มกราคม 2527
12 พฤษภาคม 2564
ผู้ชม 24173 ครั้ง